เครือข่ายญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย (Japanese Studies Network: JSN – Thailand)
ศิริพร วัชชวัลคุ
ประธานคณะกรรมการเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย
ไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การเดินทางไปมาหาสู่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และสม่ำเสมอ นับตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเปิดประเทศ และมีการสถาปนาความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการในปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้น
ในช่วงหลังสงคราม เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย ทำให้ความพยายามในการเรียนรู้ประสบการณ์และความก้าวหน้าต่างๆ จากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในสังคมไทย ส่งผลให้มีการศึกษาทำความเข้าใจญี่ปุ่นในด้านต่างๆอย่างจริงจังมากขึ้นในหมู่นักวิชาการไทย การไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นเรื่องสำคัญและได้รับการส่งเสริมจากทั้งฝ่ายไทย และญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกันในฝ่ายญี่ปุ่นเองก็มีความต้องการที่จะรู้จักประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญ เป็นแหล่งทรัพยากร และจุดรองรับการลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้เปรียบจากความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ญี่ปุ่นก็ต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การเรียนรู้ประเทศไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในระยะหลังสงครามเย็น “ไทยศึกษา” ในญี่ปุ่นได้รับความสนใจและพัฒนาไปมาก จนสามารถก่อตั้งสมาคมไทยศึกษาในญี่ปุ่นได้ และมีการจัดประชุมทางวิชาการเรื่องไทยเป็นประจำทุกปี
สำหรับ “ญี่ปุ่นศึกษา” ในประเทศไทยก็ได้รับความสนใจมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในระยะ 4 – 5 ปีมานี้ เมื่อความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสนใจในญี่ปุ่นศึกษาจะมีมากขึ้น แต่ความพยายามในการรวมตัวกันของนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยไม่ได้ก้าวหน้าไปมากเหมือนการรวมตัวของนักวิชาการญี่ปุ่นที่ทำเรื่องไทยศึกษา โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการกระจายตัวของนักวิชาการอยู่ในสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยต่างๆ และมีภารกิจมาจนไม่สามารถจัดการเวลาให้มาพบปะหรือรวมตัวกันได้
กระนั้นก็ดี ไม่ได้หมายความว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีความเพียรพยายามในการรวมตัวกันของนักวิชาการด้านญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยเลย อันที่จริง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ได้มีความพยายามดังกล่าวจากนักวิชาการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อตั้งเป็น “ชมรมญี่ปุ่นศึกษา” ขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นนักวิชาการที่ทำเรื่องญี่ปุ่นศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค แต่ในระยะแรกก่อตั้งสมาชิกส่วนมากเป็นนักวิชาการที่อยู่ในกรุงเทพฯ และกิจกรรมในระยะแรกก็ถูกจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากมูลนิธิญี่ปุ่น (Japan Foundation หรือ JF) กิจกรรมที่ได้รับการดำเนินการมักจะเป้นการอภิปราย/สัมมนา/ปาฐกถาพิเศษทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องญี่ปุ่น ทั้งโดยนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น กิจกรรมดังกล่าวของชมรมญี่ปุ่นศึกษานี้ค่อนข้างคึกคักในระยะ 4-5 ปีแรก แต่หลังจากนั้นมาก็ค่อยๆ ซบเซาลง สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การลดลงของความถี่ในการดำเนินกิจกรรมของชมรมก็คือ การที่ผู้นำหรือบุคคลที่เป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมมีภารกิจเพิ่มมากขึ้นและการขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้สานต่อกิจกรรมดังกล่าว
ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 แนวคิดในการรวบรวมนักวิชาการที่ทำงานด้านญี่ปุ่นศึกษาเข้าด้วยกันและก่อตั้งเป็นชมรมหรือเครือข่ายนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาได้ถูกนำกลับมาพูดคุยหารือกันใหม่อีกครั้ง โดยนักวิชาการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการริ่เริ่มและผลักดันของโครงการญี่ปุ่นศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการสนับสนุนอย่างแข็งขันอีกเช่นกันของมูลนิธิญี่ปุ่น จากการเริ่มดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดประชุม เพื่อก่อตั้งเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การประชุมทั้งสองครั้ง ประเด็นหลักที่มีการหารือกันคือ ความจำเป็นในการก่อตั้งเครือข่าย วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง และกิจกรรมที่เครือข่ายจะดำเนินการเพื่อให้เครือข่ายดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งแสวงหาแหล่งสนับสนุนทางการเงิน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เครือข่ายจะดำเนินการต่อไปด้วย ผลจากการประชุมทั้งสองครั้ง ที่ประชุมสรุปได้ แรงผลักดันหรือความจำเป็นที่สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันของนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย คือ ประการแรก นักวิชาการส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า แหล่งสนับสนุนทางการเงินเพื่อกิจการทางวิชาการจากแหล่งเดิม เช่น มูลนิธิญี่ปุ่นศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นมีข้อจำกัดมากขึ้น ในการให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการ โดยเฉพาะถ้าเป็นไปในรูปของการดำเนินการโดยบุคคลหรือสถาบันเดียวก การทำงานในลักษณะบูรณาการและความร่วมมือหลายฝ่ายเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งความต้องการดังกล่าวเป็นแรงผลักดันไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันของนักวิชาการ ประการที่สอง มีความต้องการในหมู่นักวิชาการด้านญี่ปุ่นศึกษาด้วยกันเองที่จะให้มีศูนย์กลางเพื่อเป็นเวทีในการพบปะหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน และประการที่สาม มีความต้องการในหมู่นักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย ที่จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย เพื่อไปร่วมในการประชุมกับนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลจากการประชุมทั้งสองครั้ง ที่ประชุมได้ตกลงที่จะสถาปนา “เครือข่ายญี่ปุ่นศึกษา” (Japanese Studies Network – JSN) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 โดยเครือข่ายนี้จะเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยใดๆ แต่มีตัวแทนของสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยที่มีการเรียนการสอน และการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องญี่ปุ่น เป็นกรรมการบริหารเครือข่ายและเป็นสมาชิกของเครือข่ายด้วย โดยคณะกรรมการบริหารเครือข่าบยในปัจจุบันประกอบด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค (ดูรายละเอียดจากภาคผนวก)
วัตถุประสงค์หลักของเครือข่ายมี 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการที่ศึกษาและให้ความสนใจเรื่องญี่ปุ่นศึกษา ประการที่สอง เพื่อเป็นตัวแทนของนักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย ในการติดต่อสัมพันธ์กับเครือข่ายหรือองค์กรรูปแบบเดียวกันในต่าประเทศ และประการที่สาม เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และประสบการณ์เรื่องญี่ปุ่นในด้านต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ด้วย สำหรับกิจกรรมหลักของเครือข่ายนั้ ที่ประชุมได้ตกลงว่า เครือข่ายจะดำเนินกิจกรรมหลัก 3 ประการ คือ หนึ่ง จัดประชุมวิชาการประจำปี สอง จัดทำสิงพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งอาจเป็นเอกสารหลังการประชุมทางวิชาการประจำปี หรือวารสารทางวิชาการ และสาม จัดทำ Website เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเครือข่าย และเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องญี่ปุ่น และเนื่องจากเครือข่ายยังไม่มีเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ในการดำเนินกิจกรรมแต่ละครั้งนั้นกรรมการบริหารเครือข่าย จะต้องหาทุนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจากแหล่งสนับสนุนทางการเงินต่างๆ เช่น มูลนิธิญี่ปุ่น หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น โดยสำนักงานของเครือข่ายจะย้ายเวียนไปตามสถานศึกษา/สถาบันวิจัยต่างๆ ที่รับเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมของเครือข่าย ในแต่ละปี
คณะกรรมการบริหารเครือข่ายตระหนักดีว่า การก่อตั้งเครือข่ายมิใช่เรื่องง่ายทั้งยังเป็นเรื่องยากมากกว่าในการที่จะพยุงรักษาให้เครือข่ายดำรงอยู่ต่อไปยาวนาน และมีชีวิตชีวา ซึ่งหมายถึงการมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์แก่สมาชิกมาเพียงพอที่จะดึงดูดสมาชิกเอาไว้ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ทั้งกรรมการบริหารและสมาชิกของเครือข่ายก็รับรู้ถึงความจำเป็นและแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นในครั้งนี้ รวมทั้งมีความหวังว่า การรวมตัวเพื่อกิจกรรมร่วมกันนับตั้งแต่บัดนี้ไป จะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้แก่แวดวงวิชาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศทไย และเป็นการสร้างเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างสองฝ่ายในที่สุด.
สมาคมฯ ได้มีการจัดทำวารสารเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษา (jsn Journal) โดยจัดทำเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบตีพิมพ์ และ แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยรูปแบบตีพิมพ์เริ่มจัดทำตั้